ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศูนย์ประชุมแห่งชาติที่อยู่รับใช้งานประชุมสำคัญของชาติมาแล้วกว่า 28 ปี หากจะย้อนไปในจุดเริ่มต้นของศูนย์ประชุมแห่งชาติที่ทรงคุณค่าแห่งนี้ ต้องนับย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2532 ประเทศไทยได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม ประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศครั้งที่ 46 ณ กรุงเทพมหานคร

รัฐบาลไทยในยุคนั้นจึงได้มีมติให้ทำการก่อสร้างศูนย์ประชุมแห่งชาติที่มีมาตรฐานสากลขึ้น โดยใช้คอนเซ็ปต์ในการก่อสร้างคือ Build and Design เพื่อให้เสร็จทันก่อนที่งานประชุมครั้งสำคัญจะเริ่มขึ้นในเดือน ตุลาคม 2534 ศูนย์ประชุมแห่งนี้จึงใช้นักออกแบบมากกว่า 100 คน และคนงานก่อสร้างมากกว่า 1,000 คน ในการร่วมแรงร่วมใจสร้างทั้งกลางวันและกลางคืนให้เสร็จทันเวลา

และด้วยความมุ่งมั่นของทุกฝ่าย จากกำหนดในการก่อสร้างที่ต้องใช้ระยะเวลา 40 เดือน งานโครงสร้างทั้งหมดก็แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียง 16 เดือนเท่านั้น มิหนำซ้ำยังใช้งบประมาณในการก่อสร้างน้อยกว่าที่ตั้งไว้ เหลือเพียงก็แต่งานตกแต่งภายในที่สุดท้ายก็สำเร็จเสร็จสิ้นในเดือน สิงหาคม 2534

ในวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามเป็นชื่อของศูนย์การประชุม เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2535

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้รับการออกแบบทั้งสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในให้สะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย เพื่อให้ลูกค้าและผู้เข้าร่วมงานชาวต่างประเทศได้สัมผัสและชื่นชมความงดงามของศิลปะไทย ทำให้สองทศวรรษที่ผ่านมา ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้รับเกียรติให้เป็นสถานที่จัดงานประชุมและนิทรรศการระดับนานาชาติมาโดยตลอด

ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้รับการออกแบบในสไตล์ “Thai Hi-Tech” ที่สะท้อนศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านทางรูปทรงทางสถาปัตยกรรม และการตกแต่ง ภายใน อาทิ การใช้สีเหลืองและสีขาวนวลกับหลังคาลาดเอียง หรือหน้าจั่ว 3 ชั้นที่ทำจากกระจก บริเวณทางเข้าก็ได้รับแรงบันดาลใจจากวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย สำหรับบริเวณด้านหน้าศูนย์การประชุมมีโลกุตระ ประติมากรรมคล้ายกริยา “การไหว้” ของคนไทย อันเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์การประชุมที่ได้รับเกียรติออกแบบโดยศิลปินแห่งชาติ ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ

ภายในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ยังมีการประดับตกแต่งไปด้วยผลงานศิลปะไทยกว่า 1,500 ชิ้น และมีผลงานที่น่าสนใจหลายชิ้น อาทิ พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เป็นผลงานของศิลปินแห่งชาติ อาจารย์สนิท ดิษฐพันธุ์ และจำหลักไม้พระราชพิธีอินทราภิเษก
ที่มาข้อมูล http://www.qsncc.co.th

วันนี้เพื่อวันใหม่ของการเป็นศูนย์ประชุมแห่งกลางเมือง
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 ที่ผ่านมาศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้ปิดการให้บริการลง เพื่อใช้เวลาจากนี้อีก 3 ปี ในการปรับปรุงเข้าสู่ยุคใหม่ของการเป็นศูนย์การประชุมแห่งภูมิภาค ด้วยงบประมาณกว่า 6 พันล้านบาท เพื่อขยายพื้นที่การจัดงานที่จากเดิมมีพื้นที่ 2 หมื่นตารางเมตร เพิ่มเป็น 7 หมื่นตารางเมตร พร้อมที่จอดรถที่รองรับได้ถึง 3 พันคัน ในส่วนของพื้นที่สวนเบญจกิติ ยังคงเปิดให้เข้าใช้บริการได้ตามปกติ

ขอขอบคุณ เพจ Shutter 360 ที่จัดกิจกรรมเก็บภาพความทรงจำ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเจ้าหน้าที่ของพื้นที่ทุกท่านที่อำนวยความสะดวก