นักปั่นมือใหม่จำนวนไม่น้อยที่เพิ่งถอยจักรยานมา แต่ว่าไม่ได้ซื้อสูบลมมาด้วย บางทีร้านเองก็ขาดการแนะนำและนึกถึง ชีวิตของลูกค้าหลังบ้าเห่อจักรยานคันแรกไป ว่าเค้ามีอะไรต้องใส่ใจดูแลบ้าง หนึ่งในเรื่องที่ต้องหมั่นแลดูและเอาใจใส่อยู่เสมอสำหรับผู้ใช้จักรยานคือ การเติมลมยาง และการจะเติมลมยางได้ ก็ใช่ว่าจะไปอาศัยร้านจักรยานอย่างเดียว ลองเลือกสูบที่เหมาะกับจักรยานและการใช้งานของคุณสักอัน แล้วหมั่นเช็คลม เติมลมอยู่เสมอ เพียงเท่านี้คุณก็จะมีจักรยานที่ปั่นดีๆ ไว้ให้ใช้ได้อยู่เสมอ
วิธีเติมลมยาง
หัวสูบลมยางแบบต่างๆ
จุกเติมลมยางในรถจักรยานที่เห็นใช้กันเป็นมาตรฐานในบ้านเราส่วนใหญ่จะพบได้อยู่ 3 ประเภท ด้วยกันดังนี้ครับ
แบบที่ 1 เรียกกันทั่วไปว่าจุกแบบไส้ไก่ ( Woods Valve หรือ Dunlop Valve )
แบบที่ 2 ภาษาชาวจักรยานเรียกกันว่า แบบจุกใหญ่ หรือจุ๊บใหญ่ ( Schrader valve หรือแบบ American valve ) ซึ่งจุกลมแบบนี้นิยมใช้กันมาก ทั้งรถจักรยาน รถจักรยานยนต์ รวมถึงล้อรถยนต์ด้วย
แบบที่ 3 เรียกกันว่าจุกเล็ก หรือจุ๊บเล็ก บางคนอาจจะเรียกว่าแบบหัวลูกศร ( Presta valve หรือแบบ French valve )
จุ๊บเติมลมแบบต่างๆ
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเติมลมยางในรถจักรยานก็คือ อุปกรณ์สำหรับเติมลม นั่นคือ “สูบ” นั่นเอง
สูบลมรูปแบบต่างๆ
จากรูป ตัวใหญ่ที่สุด เรียกว่า สูบมือแบบตั้งพื้น ส่วนตัวเล็ก ๆ 2 ตัวที่เห็น เรียกว่า สูบมือแบบพกพา
สูบมือแบบตั้งพื้นตัวใหญ่ จะใช้งานได้ง่าย สะดวก และเบาแรงกว่าแบบพกพา
สูบลมแบบพกพา มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา เหมาะสำหรับพกติดตัวเมื่อต้องปั่นจักรยานทางไกล ไว้สำหรับยามฉุกเฉินเมื่อเกิดปัญหายางแบน
สูบมือตั้งพื้นบางรุ่น จะมี Gauge บอกค่าความดันของลมยาง ในขณะที่เติมด้วย
หัวสำหรับเติมลมบางรุ่น สามารถปรับเปลี่ยนให้ใช้กับหัวจุกลมทั้งแบบเล็ก หรือแบบใหญ่ก็ได้
เมื่อถอดหัวออกมาจะสามารถสลับหัวสำหรับสูบจุ๊บเล็กหรือใหญ่ได้
หรือบางรุ่นอาจทำมาให้ใช้ได้ทั้งสองแบบ
วิธีการเติมลม สำหรับจุกลมแบบจุกใหญ่ (Schrader valve )
ดึงก้านล็อคขึ้น จะทำให้หัวจุ๊บยึดติดกับรูสูบลมได้อย่างแน่นหนา
ดันหัวสูบให้เข้าไปจนสุดเกลียวของจุกลม (ดันเข้าไปตรงๆ ไม่ต้องหมุนตามเกลียวของจุกลม ) จากนั้นก็ดึงก้านล็อคที่หัวสูบขึ้น เพื่อล็อคหัวสูบกับจุกเติมลมให้แน่น แล้วจึงทำการสูบลม

ปริมาณลมที่เราจะเติมเข้าสู่ยางในสามารถดูได้จากตัวเลขที่อยู่ขอบยาง ซึ่งจะระบุค่าต่ำสุดและสูงสุดเอาไว้อย่างชัดเจน โดยขนาดยางแต่ละชนิด จะเติมลมไม่เท่ากัน ยางใหญ่จะมีแรงดันลมต่ำ ส่วนยางเล็กๆ จะใช้แรงดันลมสูงเป็นต้น
ยางเส้นนี้เติมได้ระหว่าง 60 – 80 PSI
จากรูป กำหนดให้ต้องเติมลมยางอยู่ระหว่าง 60 – 80 psi ซึ่งหมายถึงให้เติมลมไม่น้อยกว่า 60 psi แต่ไม่ควรเกิน 80 psi
แล้วถ้าไม่มีเกจบอกแรงดันจะทำอย่างไร
ในขณะที่สูบโดยไม่มีเกจบอกแรงดัน ให้ทำการกดหน้ายางดูด้วย ถ้ารู้สึกว่ากดแล้วตึงๆ มือ ก็ถือว่าใช้ได้
เมื่อเติมลมยางได้ที่ก็เอาที่สูบออกและปิดฝาล็อคให้เรียบร้อย หากเป็นจุ๊บเล็กก็อย่าลืมขันเกลียวที่หัวกลับลงมาด้านล่างจนสุด
สังเกตุดุจะเห็นว่า หัวจุกลมแบบนี้ ตรงส่วนปลายจะมีเกลียวล็อควาล์วลมอยู่ด้วย ก่อนที่จะเติมลม จะต้องคลายเกลียวล็อควาล์วลมออกมาก่อน สูบเสร็จก็หมุนกลับมาที่เดิม
ใช้หัวสูบลมแบบรูเล็ก เสียบเข้าไปที่จุกเติมลม
เมื่อได้ค่าความดันลมตามที่ต้องการแล้ว ก็ปลดหัวสูบออก จากนั้นก็หมุนล็อคเกลียวล็อควาล์วให้แน่น เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
การเติมลมยางแบบ จุกไส้ไก่ ( Woods valve )

จุดอ่อนของยางแบบจุกไส้ไก่ คือยางไส้ไก่มักจะเสียหรือเสื่อมสภาพเร็ว ถ้าหากเป็นยางที่มีอายุการใช้งานมานานแล้ว ให้ถอดหัวล็อคท่อลมออกมาดูว่า ยางไส้ไก่มันเสื่อมสภาพ หรือฉีกขาดหรือเปล่า
ถ้าหากยางเก่า ชำรุด หรือเสื่อมสภาพ ก็หายางไส้ไก่อันใหม่มาเปลี่ยน ไม่งั้นสูบลมเข้าไปสักพักยางก็จะอ่อน เพราะเก็บลมไม่อยู่ ยางไส้ไก่ หาซื้อได้ตามร้านขายหรือซ่อมรถจักรยานทั่วไป (ปัจจุบันอาจจะหายากแล้ว) เมื่อเปลี่ยนยางไส้ไก่เรียบร้อยแล้ว ก็ประกอบกลับเข้าไปเหมือนเดิม ขัดล็อคเกลียวให้แน่น ก็พร้อมใช้งานได้แล้ว
หัวสูบลมสำหรับจุกลมแบบไส้ไก่ จะมีลักษณะคล้ายไม้หนีบผ้า จากรูปเป็นหัวสูบไส้ไก่แบบอแดปเตอร์ เวลาใช้งานต้องต่อกับสูบหัวจุกใหญ่
เวลาใช้งานก็ บีบ และ หนีบ
หัวอะแดปเตอร์สำหรับสูบยาง
ตัวอแดปเตอร์แปลงจุกลม หาซื้อได้ตามร้านขายรถจักรยาน ราคาประมาณตัวละ 20 – 30 บาท
วิธีการติดตั้ง ก่อนใส่ตัวอแดปเตอร์ ต้องคลายเกลียวล็อควาล์วลมก่อน ไม่งั้นจะเติมลมไม่เข้า จากนั้นก็ขันเกลียวตัวอแดปเตอร์เข้ากับเกลียวของจุกลม เมื่อเติมลมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ถอดตัวอแดปเตอร์ออก ขันล็อคตัวล็อควาล์วลม เป็นอันเรียบร้อย
เพียงเท่านี้ก็ใช้สูบหัวใหญ่สูบกับจุ๊บหัวเล็กได้แล้ว
ที่มาบทความและภาพโดย คุณ kapok ห้องรัชดา เว็บไซต์ pantip.com
เรียบเรียงโดย BKKWheels
ครั้งหนึ่งผมเคยมีชีวิตในแบบคนเมืองทั่วไป ตื่นแต่เช้าเพื่อไปยืนรอรถเมล์เพื่อให้ทันเข้างาน และกลับบ้านดึกพร้อมกับความรู้สึกหมดแรงจนไม่อยากทำอะไร จนวันหนึ่งผมได้รู้จักกับจักรยาน มันไม่ใช่แค่พาหนะที่ทำให้ผมไปถึงที่หมายได้เร็วขึ้นด้วยแรงของตัวเอง แต่มันยังช่วยเติมเต็มชีวิตของผมให้สมบูรณ์ขึ้นนับแต่นั้นมา