ผมเชื่อว่ามีหนึ่งคำถามที่นักปั่นหลายคนมักจะโดนตั้งคำถามเสมอ จากผู้ที่มีความสนใจเเรื่องจักรยานหน้าใหม่ หนึ่งในคำถามเหล่านั้นคือ ซื้อจักรยานแบบไหน ราคาเท่าไหร่ดี? ซึ่งบางคนก็แนะนำในแบบที่ตัวเองชอบ และบางคนก็ตอบแบบใส่ใจผู้ถามสนใจในรายละเอียด เอาเป็นว่าวันนี้ผมขอนำเสนอแนวทางการตอบคำถามเหล่านั้นสำหรับผู้สนใจที่จะซื้อจักรยานคันแรก ไว้เป็นแบบหลักการดังนี้ก็แล้วกันนะครับ

1. งบประมาณในการซื้อ
งบประมาณหรือเงิน คือปัจจัยแรกๆ ที่ควรให้ความสำคัญในการเลือกซื้อจักรยาน เพราะหากคุณมีงบประมาณที่พร้อมจะจ่ายได้อย่างชัดเจนแล้ว โดยสามารถบวกลบได้นิดหน่อย ก็จะทำให้การตัดสินใจในการเลือกซื้อจักรยานง่ายขึ้น คนที่จะแนะนำคุณก็สามารถแนะนำรุ่นของจักรยานที่เหมาะกับคุณได้ง่ายขึ้นเช่นกัน โดยราคาของจักรยานมือหนึ่งในปัจจุบันแบบที่ใช้งานได้ดีก็จะมีตั้งแต่หมื่นต้นๆ ไปจนถึงหลักแสนเลยทีเดียว
2. จุดประสงค์ในการใช้งาน
จุดประสงค์ในการใช้งานจะเป็นตัวบอกประเภทของจักรยานที่คุณจะเลือกใช้ได้อย่างดี อย่างเช่นจุดประสงค์หลักที่คุณจะซื้อจักรยานคือการปั่นไปทำงาน ประเภทจักรยานที่เหมาะสมก็อาจจะเป็นจักรยานพับได้ จักรยานไฮบริด จักรยานซิตี้ไบค์ หรือเสือภูเขาเป็นต้น ทั้งนี้ก็จะมีปัจจัยร่วมในการตัดสินใจเช่น
- ที่ทำงานของคุณมีสถานที่จอดจักรยานที่ปลอดภัยให้หรือไม่ ถ้าหากไม่มีและคุณไม่ไว้ใจ การเลือกใช้จักรยานพับเป็นพาหนะเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันสำหรับคนเมืองก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
-
ระยะทางไกลไม่มีจุดเชื่อต่อขนส่งสาธารณะ อาจไกลถึง 20 กิโลเมตรจากที่ทำงาน ตัวเลือกของคุณอาจจะเป็นจักรยานไฮบริด จักรยานซิตี้ไบค์ หรือเสือภูเขา ซึ่งจักรยานเหล่านี้ก็จะช่วยทุ่นแรงในการปั่นระยะทางไกลๆ ได้ดีกว่าการใช้จักรยานพับ อีกทั้งถ้าเป็นจักรยานประเภทไฮบริด หรือเสือภูเขา ที่มีขนาดหน้ายางที่ใหญ่ ก็ช่วยให้คุณสามารถปั่นบนสภาพถนนแย่ๆ ที่มีความหลากหลายของกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังไม่ต้องกลัวเกรงเรื่องฝาท่อที่ไม่ได้มาตรฐานของกทม. ด้วย
หรือหากต้องการจักรยานเพื่อการออกกำลังกาย ก็ต้องดูว่าเส้นทางปั่นที่เราจะนำไปใช้บ่อยๆ จะเป็นถนนรูปแบบไหน หากเน้นปั่นในสวนที่ถนนเรียบดีก็อาจจะเลือกใช้เป็นจักรยานเสือหมอบที่เหมาะสำหรับคนที่ชอบความเร็ว น้ำหนักเบา แต่ถ้าชอบลุยป่าฝ่าดง ขึ้นเขา ก็อาจเลือกเป็นจักรยานเสือภูเขา ที่พร้อมจะพาคุณลุยไปได้ทุกที่ ทุกสภาพผิวถนน ท่าปั่นนั่งหลังตรงสบายๆ รถให้ความนุ่มนวลไม่กระแทกกระทั้น
3. เมื่อรู้งบและประเภทจักรยานที่อยากได้แล้วจึงไปดูยี่ห้อเลือกรุ่น
ถ้าเป็นจักรยานเสือหมอบ หรือเสือภูเขา รวมถึงซิตี้ไบค์และไฮบริด ส่วนใหญ่แล้วในงบประมาณที่ใกล้เคียงกันก็จะมีอุปกรณ์ติดรถที่ใกล้เคียงกัน ความสวยงามของแต่ละยี่ห้อก็อยู่ที่แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน ความรู้สึกที่ได้เวลาที่ปั่นก็อาจจะต่างกันที่วัสดุเฟรมซึ่งเฟรมนี้เองที่เป็นหัวใจหลักในการเลือกซื้อจักรยานอีกจุดหนึ่ง เพราะวัสดุในการใช้ทำเฟรมจะมีผลต่อราคา และเป็นอิทธิพลหลักของการออกแบบเพื่อให้นักปั่นได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากจักรยานรุ่นนั้นๆ โดยวัสดุหลักๆ ที่ใช้ทำเฟรมจักรยานในปัจจุบันสำหรับผู้เริ่มต้นก็จะมีอยู่ 3 ประเภทดังนี้
– โครโมลี่ เฟรมจักรยานที่ทำโครโมลี่ ก็จะมีเกรดที่แบ่งกว้างๆ ได้ 2 ประเภทคือ โครโมลี่ สตีล เป็นวัสดุที่มีคุณภาพสูงน้ำหนักเบา ให้ตัวได้ดี และมีความแข็งแรง ซึ่งดีกว่าวัสดุประเภท ไฮเท็น ซึ่งจะมีราคาถูกกว่าความทนทานอาจใกล้เคียงกันแต่ก็มีน้ำหนักที่มากกว่า ข้อดีของวัสดุแบบโครโมลี่นี้อีกอย่างก็คือเมื่อเกิดความเสียหายยังสามารถซ่อมแซมได้
– อลูมิเนียม เฟรมจักรยานประเภทนี้จะมีน้ำหนักเบากว่าโครโมลี่ ความทนทานใกล้เคียงกัน แต่จะไม่เป็นสนิมเหมือนโครโมลี่ เป็นวัสดุที่มีความกระด่าง ซึ่งถ้าฟังแบบนี้อาจจะดูไม่ดีแต่จริงๆ แล้วคุณสมบัตินี้ก็เป็นข้อดีสำหรับจักรยานทางเรียบ รวมถึงการใช้เพื่อไต่เขา เมื่อเกิดความเสียหายที่เฟรมจะซ่อมไม่ได้แบบโครโมลี่
– คาร์บอน ไฟเบอร์ เป็นวัสดุเฟรมที่เบาที่สุดจากทั้งหมด และรวมข้อดีของ โครโมลี่ที่ยืดหยุดได้ดีเมื่อเจอทางที่ขรุขระ และกระด่างเมื่อใช้ปั่นบนทางเรียบ จักรยานที่ใช้วัสดุเป็นคาร์บอน ไฟเบอร์จะมีราคาค่อนข้างสูง รวมถึงส่วนประกอบอื่นๆ ที่ใช้คาร์บอน ไฟเบอร์ในการผลิตด้วย
** ทั้งนี้รูปทรงการออกแบบของจักรยานแต่ละยี่ห้อก็มีผลต่อประสบการณ์ที่ผู้ปั่นจะได้รับด้วย
สำหรับจักรยานพับจะต่างจาก จักรยานทั้งหมดที่กล่าวมา เพราะส่วนใหญ่แล้วจักรยานพับแต่ละยี่ห้อมักจะมีลิขสิทธิ์การพับเป็นของตัวเอง หน้าตาของจักรยานพับแต่ละยี่ห้อจึงค่อนข้างแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง รวมไปถึงวิธีการพับด้วย โดยส่วนใหญ่แล้วจักรยานพับจะถูกออกแบบมาเพื่อใช้เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง สำหรับคนที่ต้องการจักรยานพับเพื่อใช้เชื่อมต่อการเดินทางก็อาจต้องพิจารณาถึง น้ำหนักของจักรยานรุ่นนั้นๆ พับแล้วสามารถเข็นได้ไหม เป็นจักรยานที่เหมาะสำหรับปั่นกับระยะทางแบบไหนด้วย เพราะบางรุ่นล้อเล็กมากๆ อย่าง Pacific Carry Me ที่มีขนาดล้อเพียง 8 นิ้ว เมื่อพับแล้วเราจะเป็นทรงแท่งแนวตั้ง ทำให้เราสะดวกในการพกพาไปใช้ร่วมกับระบบสาธารณะต่างๆ ได้ง่ายๆ เป็นต้น แต่จักรยานพับส่วนใหญ่ที่เป็นที่นิยมกันก็จะมีขนาดล้อที่ประมาณ 20 นิ้ว อย่าง Dahon จักรยานพับกลาง ที่มีขั้นตอนในการพับเพียงแค่ 3 ขั้นตอนใช้เวลาในการพับไม่ถึง 10 วินาที และมีราคาถูกเป็นต้น
นอกจากนี้จักรยานพับก็ยังมีประเภทที่ทำออกมาเพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์แบบเดียวหรือใกล้เคียงกับผู้ใช้จักรยานเสือหมอบ อย่าง Tyrell จักรยานพับที่มีน้ำหนักเบา ใช้อะไหล่และอุปกรณ์ระดับสูงในแบบเดียวกับที่ใช้ในจักรยานแข่งขัน ซึ่งมีราคาสูงตามไปด้วย
4. รายละเอียดอื่นๆ
ถ้าคุณเจอร้านจักรยานที่เปิดโอกาสให้ทดลองปั่นได้ควรจะทดลองปั่นดูก่อน เพื่อที่จะได้รู้ว่าคุณเองชอบความรู้สึกที่ได้รับจากจักรยานคันนั้นหรือไม่ ถึงแม้ว่าจักรยานส่วนใหญ่จะมีหน้าตาที่คล้ายๆ กัน แต่ความรู้สึกที่ได้ของจักรยานแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ แต่ละวัสดุที่ใช้ทำเฟรม ก็ให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป บางคนอาจชอบจักรยานที่ให้ความรู้สึกนุ่มนวล บางคนชอบจักรยานที่ให้ความรู้สึกพุ่งไหล คล่องตัวปราดเปรียว ว่องไว ประสบการณ์กับจักรยานที่เหมาะสมกับเราอีกข้อหนึ่งที่สำคัญสำหรับคนที่เลือกใช้จักรยานประเภท เสือหมอบ เสือภูเขา ไฮบริด หรือซิตีไบค์ก็คือ เรื่องของขนาดรถ ซึ่งถ้าคุณเจอพ่อค้าใจโฉดก็อาจถูกยัดใส่ขาย เอาจักรยานไซส์ที่ไม่เหมาะสมกับคุณมายัดเยียดขายให้คุณอย่างไร้คุณธรรมได้ ดังนั้นก่อนจะไปเลือกซื้อจักรยานก็ควรรู้จักการเลือกไซส์จักรยานคร่าวๆ สำหรับตัวเองไว้ก่อนก็จะดี เพราะการขี่จักรยานที่ผิดไซส์ก็จะนำมาซึ่งปัญหามากมายแบบที่จะทำให้คุณไม่มีความสุขในการปั่นตามมาได้ในภายหน้า
เครื่องมือวัดไซส์จักรยานเบื่องต้น
คำนวนขนาดจักรยานเสือหมอบ (Road Bike) คลิก
คำนวนขนาดจักรยานเสือภูเขา (MTB) คลิก

ชาร์ทขนาดของจักรยานตามความสูง (หน่วยเป็นนิ้ว)
MTB – Off Road (Hardtail) | MTB – Off Road (Full Suspension) | ||||
Height | Inside Leg | Frame Size | Height | Inside Leg | Frame Size |
4’10” – 5’0″ | 26″ – 28″ | 13″ | 5’4″ – 5’7″ | 28″ – 30″ | 14″, 15″ |
5’0″ – 5’3″ | 27″ – 29″ | 14″, 15″ | 5’8″ – 5’9″ | 29″ – 31″ | 16″, 17″, 18″ |
5’4″ – 5’7″ | 28″ – 30″ | 16″, 17″ | 5’10” + | 30″ – 32″ | 19″, 20″, 21″ |
5’8″ – 5’9″ | 29″ – 31″ | 18″, 19″ | . | ||
5’10” – 5’11” | 30″ – 32″ | 20″ | |||
6’0″ – 6’2″ | 32″ – 34″ | 21″ | |||
6’2″ – 6’4″ | 33″ – 35″ | 22″ |
Hybrid – Leisure/Comfort | Hybrid – Sport/Commuter | ||||
Height | Inside Leg | Frame Size | Height | Inside Leg | Frame Size |
4’10” + | 26″ – 28″ | 13″, 14″ | 4’10” + | 26″ – 28″ | 13″, 14″ |
5’0″ + | 27″ – 29″ | 15″ | 5’0″ + | 27″ – 29″ | 15″ |
5’2″ + | 27″ – 29″ | 16″ | 5’2″ + | 27″ – 29″ | 16″ |
5’4″ + | 28″ – 30″ | 17″ | 5’4″ + | 28″ – 30″ | 17″ |
5’6″ + | 28″ – 30″ | 18″ | 5’6″ + | 28″ – 30″ | 18″ |
5’8″ + | 29″ – 31″ | 19 | 5’8″ + | 29″ – 31″ | 19 |
5’10” + | 30″ – 32″ | 21″ | 5’10” + | 30″ – 32″ | 21″ |
6’0″ + | 32″ – 34″ | 22″ | 6’0″ + | 32″ – 34″ | 22″ |
Road – Standard | ||
Height | Inside Leg | Frame Size |
5’1″ – 5’3″ | 27″ – 29″ | 48cm |
5’3″ – 5’5″ | 28″ – 30″ | 50cm |
5’5″ – 5’7″ | 29″ – 31″ | 52cm |
5’7″ – 5’9″ | 30″ – 32″ | 54cm |
5’9″ – 5’11” | 31″ – 33″ | 56cm |
5’11 – 6’2″ | 32″ – 34″ | 58cm |
6’1″ – 6’3″ | 33″ – 35″ | 60cm |
6’3″ – 6’5″ | 34″ – 36″ | 62cm |
Road – Compact | Road – Compact – Ladies | ||||
Height | Inside Leg | Compact Frame Size | Height | Inside Leg | Compact Frame Size |
5’2″ – 5’4″ | 27″ – 29″ | XS | 5’0″ – 5’2″ | 26″ – 28″ | 2XS |
5’4″ – 5’7″ | 29″ – 31″ | S | 5’2″ – 5’4″ | 27″ – 29″ | XS |
5’7″ – 5’10” | 31″ – 32″ | M | 5’4″ – 5’6″ | 28″ – 30″ | S |
5’10” – 6’0″ | 32″ – 33″ | M/L | 5’6″ – 5’8″ | 29″ – 31″ | M |
6’0″ – 6’3″ | 33″ – 34″ | L | 5’7″ – 5’10” | 30″ – 32″ | L |
6’3″ – 6’6″ | 34″ – 36″ | XL | . |
ส่วนจักรยานพับอาจจะมีขนาดแบบกว้างๆ โดยออกแบบมาเพื่อผู้ใช้ที่หลากหลาย ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถปรับความสูงของหลักอานได้ ทำให้ความสูงของผู้ปั่นมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ปรับระดับของคอแฮนด์ได้ คุณอาจต้องปรับแต่งเพิ่มอีกเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะและลงตัวกับรูปร่างของคุณ หลักการเลือกซื้อจักรยานพับหลักๆ คงเป็นเรื่องของน้ำหนักและการเข็น หากคุณจะนำมาใช้เพื่อเดินทางในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าตั้งใจจะซื้อไว้พับใส่รถเอาไปปั่นที่ไหนสักแห่ง ก็ดูแค่ขนาดเมื่อพับแล้ว และความเหมาะสมกับเส้นทางที่คุณอยากจะเอาไปปั่นก็น่าจะเพียงพอครับ
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ถ้ามันจะดูเยอะเกินไป และอาจทำให้คุณรู้สึกสับสนมากขึ้นละก็ จำแค่ข้อ 1 และข้อ 2 ก็พอครับ เพียงเท่านี้ก็เป็นโอกาสดีๆ ที่คุณจะเริ่มต้นหาจักรยานคันแรกได้แล้วครับ หรือถ้าต้องการตัวช่วยก็ลองหาหนังสืออย่าง ฺBicycle Catalog มาอ่านดูก็ได้ครับ เพราะจะเป็นหนังสือที่รวบรวมข้อมูลจักรยานรุ่นและประเภทต่างๆ ที่มีจำหน่ายในเมืองไทยในปัจจุบัน รวมทั้งราคาและการติดต่อผู้จัดจำหน่าย
เทคนิคเพิ่มเติม
ปัจจุบันจักรยานหลายแบรนด์เริ่มเปิดให้มีการจำหน่ายจักรยานในแบบผ่อน 0% 6 เดือน หรือ 10 เดือนก็แล้วแต่แบรนด์ ซึ่งนี่เป็นโอกาสดีมากๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่อยากจะ Bike To Work และได้จักรยานดีๆ ไว้ใช้สักคัน แทนที่จะต้องจ่ายด้วยเงินก้อนเดียว ก็ทำให้คุณมีตัวเลือกในการซื้อจักรยานที่โดนใจได้ง่ายขึ้น ด้วยหลักคิดง่ายๆ ดังนี้
หากในแต่ละเดือนคุณมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อยู่ที่ราวๆ 3 – 4 พันบาทต่อเดือน คุณสามารถเลือกซื้อจักรยานในราคาตั้งแต่ 2 – 3 หมื่นได้สบายๆ โดยหากเลือกใช้โปร 0% 10 เดือน เท่ากับว่าคุณจะต้องผ่อนจักรยานต่อเดือนละ 2 พันกว่าบาท ซึ่งถ้าคุณปั่นจักรยานไปทำงานทุกวัน คุณจะมีเงินเหลือจากส่วนต่างหลังหักค่าจักรยานไปแล้วอีกราว 1 – 2 พันบาทโดยประมาณ และเมื่อคุณปั่นจักรยานไปทำงานครบ 10 เดือน ในเดือนที่ 11 และจากนั้นคุณจะมีเงินเหลือเพิ่มขึ้นจากค่าเดินทางที่เคยต้องจ่ายและค่ารถจักรยานที่เคยต้องผ่อน อีกราวๆ 3 – 4 พันบาทเลยทีเดียว