ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ใช้จักรยานทั้งเพื่อการเดินทางและเพื่อการท่องเที่ยว ตอนเริ่มปั่นจักรยานใหม่ๆ ใส่แค่หมวกแก๊ปหนึ่งใบก็ปั่นจักรยานออกจากบ้านไปทำงาน จนมีเพื่อนทักว่ามันไม่ปลอดภัย เลยมองหาหมวกจักรยานมาใช้ให้เป็นเรื่องเป็นราว เรื่องหนึ่งที่รู้สึกได้คือความมั่นใจเวลาปั่นมีมากขึ้น และได้เห็นความสำคัญของมันตอนที่ได้ใช้มันตามหน้าที่จริงๆ ในตอนที่ผมถูกกระชากมือถือที่ติดอยู่กับจักรยาน แล้วรู้สึกตัวอีกทีผมก็ลงไปอยู่ที่พื้นแล้ว แน่นอนว่าศรีษะผมกระแทกพื้น แต่เคราะดีที่วันนั้นสวมหมวกจักรยาน ผมจึงไม่ได้รับอันตรายเกินกว่าที่ควรจะเป็น
และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีโอกาสไปร่วมทริปปั่นจักรยานและอยู่ในเหตุการณ์ที่จักรยานล้มจากการเสียหลักขณะลงเขาด้วยความเร็ว และในเหตุการณ์นั้นถึงแม้ผู้ประสบเหตุไม่ถึงกับบาดเจ็บสาหัส แต่ศรีษะก็กระแทกพื้นค่อนข้างแรง แต่เคราะห์ดีที่พี่ท่านนั้นสวมหมวกจักรยานอยู่ หลังจากเธอออกจากโรงพยาบาล เธอบอกกับผมว่าเธอไม่เสียดายเลยที่ต้องจ่ายเงินไปกับค่าหมวกจักรยานที่ราคาแพงขนาดนี้ เพราะผลที่เธอได้รับมันคุ้มค่ากว่า ไม่ต่างกับการซื้อประกันที่คุณจะรู้สึกว่ามันน่าเสียดายเงินในตอนที่คุณยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่มันจะมีค่าสำหรับคุณทันทีเมื่อถึงเวลาที่เรื่องคาดไม่ถึงเกิดขึ้นกับคุณ วันนี้เราลองมาดูกันว่า เลือกและสวมหมวกจักรยานอย่างไร จึงจะปลอดภัย

เคล็ดลับควรรู้สำหรับการเลือกและสวมใส่หมวกจักรยาน
หมวกจักรยาน คืออุปกรณ์ความปลอดภัยชิ้นสำคัญที่นักขี่จักรยานห้ามละเลย จากข้อมูลของ Bicycle Helmet Safety Institute ระบุว่าหากเกิดอุบัติเหตุทางจักรยาน หมวกจักรยานสามารถป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับศีรษะได้มากถึง 88% โดยหมวกจักรยานส่วนใหญ่ทำจากโฟมพอลิสไตรีน (Polystyrene foam) ซึ่งมีเนื้อแน่น แข็งและเหนียว แต่เมื่อถูกกระแทกก็สามารถแตกหักได้ ซึ่งโฟมนี้จะช่วยดูดซับแรงกระแทกที่จะเกิดกับศีรษะของเรานั่นเอง
หากสำคัญที่สุดคือ หมวกจักรยานที่เลือกใช้ต้องได้รับมาตรฐานการผลิตที่ถูกต้อง ซึ่งมาตรฐานของประเทศไทยคือ ม.อ.ก หรือมาตรฐานในต่างประเทศ เช่น มาตรฐาน DOTโดยในแต่ละประเทศก็มีการจัดมาตรฐานออกเป็นหลายโซน เช่น สหรัฐอเมริกาคือ CPSC (Consumer Product Safety Commission) ยุโรปคือ CE sticker ออสเตรเลียคือ AS/NZS เป็นต้น
และวันนี้ Bangkok Bank CycleFest จะมาบอกเคล็ดลับการเลือกหมวกจักรยานง่ายๆ ให้คุณเลือกใช้งานได้อย่างเหมาะสมกัน
ข้อพิจารณาอันดับแรกคือ ขนาด เราควรวัดขนาดรอบศีรษะบริเวณหน้าผากล่างช่วงเหนือคิ้วขึ้นมาเล็กน้อย เมื่อวัดได้แล้วก็นำค่ามาเปรียบเทียบตามรูป เราก็จะรู้ไซส์หมวกจักรยานของเราได้อย่างง่ายดาย

เมื่อเลือกขนาดได้แล้ว เราต้องพิจารณาถึงรูปแบบที่เหมาะสมกับการใช้งาน หากใช้กับจักรยานเสือหมอบ ควรเลือกหมวกที่มีน้ำหนักเบา ระบายลมได้ดี และมีรูปทรงลู่ลม เพราะใส่ได้สบายและไม่บดบังทัศนวิสัยเมื่อต้องค้อมตัวลงต่ำ หากเป็นหมวกสำหรับจักรยานเสือภูเขาหรือจักรยานไซโคลครอส ต้องระบายอากาศดีมากแม้ขี่ด้วยความเร็วต่ำ หมวกจักรยานประเภทนี้โดดเด่นจากรูปทรงกระบังหน้าหมวก การยกด้านท้ายสูงและการสวมใส่ที่กระชับในยามขี่บนทางวิบาก บางชนิดมีส่วนป้องกันทั้งใบหน้า ซึ่งเหมาะสำหรับการปั่นลงภูเขา หรือแม้แต่การปั่นในสวนสาธารณะ

วิธีสวมใส่หมวกจักรยานที่ถูกต้อง
อันดับแรกต้องหมุนห่วงปรับขนาดด้านในหมวกให้สายรัดศีรษะหลวมเล็กน้อย สวมใส่หมวกให้เข้าที่เหมาะสม โดยต้องไม่เชิดหรือต่ำจนลงมาบังสายตา หลังจากนั้น หมุนปรับสายด้านในให้หมวกกระชับพอดี ขั้นต่อไปคือการติดสายรัดคาง โดยอย่ารัดให้แน่นจนหายใจลำบากหรือหลวมเกินไปเพราะอาจทำให้หมวกหลุดได้ หลักการง่าย ๆ คือ ใส่แล้วรู้สึกพอดี ก้มได้ เงยสะดวก
ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีใหม่ที่ชื่อว่า MIPS Multi-directional Impact Protection System (MIPS) ที่ช่วยให้หมวกยึดกระชับกับศีรษะของผู้ใส่มากที่สุด เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ หมวกจะไม่หลุดและป้องกันการกระแทกโดยไม่เสียดสีกับศีรษะ และที่สำคัญคือ ช่วยลดแรงบิดที่จะเกิดบนศีรษะหากเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสมองได้

ควรเปลี่ยนหมวกจักรยานทุก 5 ปี เพราะเป็นอายุการใช้งานปกติของวัสดุที่ใช้ผลิตหมวกจักรยาน (นับจากวันผลิต) หรือเปลี่ยนทันทีเมื่อเกิดการชำรุดหรือตกกระแทกจนโครงสร้างหมวกเสียหาย และสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งก็คือการซื้อหมวกจักรยานปลอมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะเป็นสินค้าคุณภาพต่ำและไม่สามารถปกป้องศีรษะได้ดีเท่าหมวกจักรยานของแท้ที่ผลิตตามมาตรฐาน

และหนึ่งในรายการปั่นจักรยานที่น่าสนใจมากที่สุดในปีนี้ก็คือ Bangkok Bank CycleFest 2018 โปรแกรมการแข่งขันจักรยานนานาชาติที่ต้อนรับนักปั่นทุกเพศทุกวัยและทุกระดับให้มาสนุกสนานร่วมกันทั้งครอบครัว ด้วยประเภทการแข่งขันที่หลากหลาย รวมถึงการปั่นสุดเร้าใจในสไตล์ออฟโร้ด และกิจกรรมบันเทิงอีกมากมายรวมไว้ในที่เดียว โดยงานนี้จะจัดระหว่างวันที่ 24-25 พฤศจิกายนนี้ ที่สนามกอล์ฟ สยามคันทรีคลับ พัทยา จังหวัดชลบุรี ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดการสมัครได้ที่ www.BangkokBankCycleFest.com
ครั้งหนึ่งผมเคยมีชีวิตในแบบคนเมืองทั่วไป ตื่นแต่เช้าเพื่อไปยืนรอรถเมล์เพื่อให้ทันเข้างาน และกลับบ้านดึกพร้อมกับความรู้สึกหมดแรงจนไม่อยากทำอะไร จนวันหนึ่งผมได้รู้จักกับจักรยาน มันไม่ใช่แค่พาหนะที่ทำให้ผมไปถึงที่หมายได้เร็วขึ้นด้วยแรงของตัวเอง แต่มันยังช่วยเติมเต็มชีวิตของผมให้สมบูรณ์ขึ้นนับแต่นั้นมา